• Line: @thehrconsult
  • 02-821-5354
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

ทำอย่างไรเมื่อสรรพากรขอตรวจสอบ ?

หลายท่านอาจจะรู้สึกตกใจและไม่สบายใจเมื่อได้รับจดหมายจากทางกรมสรรพากร กับการเข้ามา ขอตรวจสอบไม่ว่าจะประเด็นอะไรก็ตาม บ้างก็ทำตัวไม่ถูกและมีความวิตกกังวลเลยด้วยซ้ำ แต่ทางที่ดีเราควรตรวจสอบให้ชัดเจนว่า จดหมายที่ส่งมานั้นระบุความผิดในระดับใด เพราะในบางครั้งอาจจะเป็นการเข้ามาแนะนำข้อมูล เข้ามาตรวจสอบ ขอให้ชี้แจงบางประเด็นเท่านั้น หรือหากเป็นการแจ้งความผิดจริง ก็ควรตรวจสอบให้ดีว่ามีโทษอย่างไรกันแน่

ส่วนสาเหตุที่กรมสรรพากรจะส่งหนังสือมานั้นอาจจะมีเอกสารหรือการดำเนินงานที่ผิดพลาด ไม่ถูกต้องตามหลักการของการเก็บภาษีอากร ข้อมูลอาจจะไม่ครบไม่ตรงตามบทบัญญัติของกฎหมายภาษี งบการเงินไม่สามารถสะท้อนข้อเท็จจริงได้ มีแนวโน้มว่าข้อมูลที่แจ้งไปอาจจะไม่ใช่ “บัญชีชุดเดียว” เป็นต้น

เชื่อว่าผู้ประกอบการหลายท่านน่าจะทราบกันดีว่า ตั้งแต่ช่วงปี 2559 เป็นต้นมา ทางภาครัฐได้ออกนโยบาย ‘บัญชีชุดเดียว’ ผลักดันให้ธุรกิจเข้ามาสู่ระบบภาษีที่ถูกต้อง ไม่หลบเลี่ยงภาษี จากนโยบายจะเห็นได้ว่ารัฐบาลจะเข้มงวด และตรวจสอบการยื่นภาษีให้ถูกต้องนั่นเอง

แต่ขอบอกเลยว่าเราควรทำบัญชีให้ถูกต้องไว้ก่อนจะดีที่สุด เพราะหากถูกเรียกเก็บภาษีเพิ่มเติม เบี้ยปรับจะสูงถึง 2 เท่า หากคำนวณจากเงินต้นและภาษีที่ต้องเสียอีก เราอาจสูญเสียเงินมากถึง 4 เท่า หากมีภาษีที่ต้องจ่ายสูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว บทลงโทษก็นับว่าเป็นเงินจำนวนมหาศาลที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจในระดับหนึ่งเลยทีเดียว เพราะฉะนั้นเริ่มต้นอย่างถูกต้องไว้จะดีที่สุด แต่หากสรรพากรขอตรวจสอบบริษัท เราควรเตรียมตัวอย่างไร ไปดูกัน

1. ตั้งสติและตรวจสอบให้ดี
สิ่งสำคัญก็คือตั้งสติ อ่านและตรวจสอบให้ดีว่าจดหมายดังกล่าวระบุถึงเรื่องราวประเด็นใดไว้บ้าง จะตรวจภาษีอะไร ต้องการใช้เอกสารประเภทไหน วันเวลาเป็นอย่างไร นัดหมายเมื่อไหร่ หรือต้องโทรไปนัด ที่เลขหมายไหน เป็นต้น หลายท่านอาจจะตื่นตระหนกจนอ่านข้อความไม่ถี่ถ้วน จนทำให้เตรียมเอกสารผิดพลาดหรือเสียเวลาเตรียมเอกสารมากเกินความจำเป็น

การเข้ามาตรวจสอบหรือจดหมายที่ส่งมาอาจจะไม่ได้เลวร้ายเสมอไป ด้วยภาษีประเทศไทยนั้น เป็นระบบการประเมินการจ่ายด้วยตัวเอง บางครั้งอาจจะเกิดความผิดพลาดในการกรอกข้อมูลได้ ทางสรรพากรจึงขอเข้ามาตรวจแนะนำเพื่อให้ความรู้เท่านั้น

ที่สำคัญ ควรตรวจสอบให้ดีว่าเป็นจดหมายที่ถูกต้องตามหลักราชการหรือไม่มีผู้ใดเป็นผู้แอบอ้าง หรือเปล่า เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอกลวง

อย่าละเลยจดหมายเหล่านี้เด็ดขาด เพราะการพิสูจน์หลักฐานจะเป็นการแสดงเจตนารมณ์อันดีว่ากิจการของเราไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษีและยอมให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่นั่นเอง

2. เตรียมเอกสารให้พร้อม
จากประเด็นในข้อแรก เราต้องอ่านเอกสารให้ถี่ถ้วนและตรวจสอบให้ดีว่าต้องการเอกสารอะไรบ้าง

หลังจากนั้นก็พยายามเตรียมเอกสารไว้พร้อม ตรวจเช็กอย่างรอบคอบ ศึกษาเอกสารเหล่านั้นไว้ให้ดี หากเตรียมเอกสารครบถ้วนแล้วก็ควรพิจารณาต่อไปอีกสักหน่อยว่าสิ่งใดในเอกสารที่อาจจะเป็นประเด็นหรือถูกซักถาม ก็ควรเตรียมเหตุผลหรือหลักฐานเพิ่มเติมเอาไว้ให้เรียบร้อย แต่พยายามอย่าเตรียมเอกสารไว้มากเกินจำเป็น เพราะบางครั้งเอกสารบางอย่างอาจนำไปสู่ประเด็นอื่น ๆ ที่เราไม่อยากนำเสนอ หรือไม่อยากให้ตรวจสอบก็ได้

3. แสดงตัวว่าไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี
ไม่ว่าอยู่ในขั้นตอนไหนและไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อาจจะผิดจริงโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ พยายามแสดงเจตจำนงเอาไว้ตลอดว่า ทางบริษัทหรือตัวเจ้าของไม่ได้มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี และพร้อมให้ความร่วมในการตรวจสอบอยู่เสมอ และพร้อมที่ปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักการตลอดเวลา

4. ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญก่อนลงนามอะไร
หากเกิดประเด็นใดประเด็นหนึ่งขึ้นมา อาจจะเป็นกรณีที่เราผิดจริงหรือไม่ได้ผิดจริง เราก็ควรปรึกษา ผู้ที่มีความรู้ ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษีหรือกฎหมายก่อนลงนาม เพราะถ้าหากลงนามไปแล้ว อาจจะเป็นการยอมรับ สิ่งเหล่านั้นซึ่งอาจจะไม่สามารถแก้ไขได้ในอนาคต และอาจส่งผลเสียในระยะยาวมากกว่าที่คิด

5. ขอลดเบี้ยปรับ ขอยื่นอุทธรณ์ ผ่อนชำระ
สำหรับกรณีที่เรามีความผิดจริง ก็ยังพอมีทางออกที่ช่วยเยียวยาได้อยู่ ไม่ว่าจะเป็นการทำจดหมาย ยื่นคำร้องเพื่อขอลดเบี้ยปรับ จากเหตุผลที่ว่าไม่ได้เจตนารมณ์หลีกเลี่ยงภาษี แต่เป็นเพราะความผิดพลาด ด้านการคำนวณหรือความรู้ด้านกฎหมาย และหากคิดว่าไม่เป็นตามหลักการจริงๆ ก็สามารถยื่นอุทธรณ์ ได้อีกด้วย หรือท้ายที่สุดหากเบี้ยปรับเป็นจำนวนสูงและเราไม่สามารถผ่อนชำระได้ภายในครั้งเดียว อาจจะเป็นขอผ่อนชำระก็นับว่าเป็นทางออกที่ควรศึกษาไว้เช่นกัน





ที่มา sme.krungthai.com
-----------------------------------
The HR Consult
บริการด้านงานทรัพยากรบุคคลครบวงจร
☎️02-8215354 / 081-2792442