• Line: @thehrconsult
  • 02-821-5354
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

เชื่อหรือไม่ เทคโนโลยี VR สามารถพัฒนาพนักงานด้าน Soft Skills ได้

เชื่อหรือไม่ เทคโนโลยี VR สามารถพัฒนาพนักงานด้าน Soft Skills ได้

ปัญหาอันน่าปวดหัวของ HR คือ เราจะพัฒนาคนรายบุคคลอย่างไร เช่น การจะสร้างกระบวนการพัฒนาทักษะเฉพาะทางให้กับพนักงานรายบุคคล หรือรายหน่วยงานในจำนวนจำกัด และด้วยเทคโนโลยีปัจจุบันที่ใช้อยู่ก็อาจจะไม่เพียงพอ เช่น การจัดการประชุมออนไลน์ หรือการจัด e-Learning ที่ไม่สามารถวัดผลแบบติดตามภายหลังต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ


อะไรคือ Soft Skills

เราอาจอธิบายคำว่า Soft skill ด้วยการมองว่า เป็นบุคลิกลักษณะ หรือทักษะในเรื่องการติดต่อสื่อสารระหว่างบุคคล ที่สามารถสร้าง หรือเชื่อมความสัมพันธ์กับกลุ่มต่าง ๆ ในสังคม เช่น ลูกค้า เพื่อนร่วมงาน เจ้านาย เป็นต้น โดยที่อาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับทักษะที่เป็นลักษณะเชิงความเชี่ยวชาญในงาน หรือ hard skill เช่น การผ่าตัด การคำนวณ หรือการผสมวัคซีน นอกจากนี้ยังรวมไปถึงคุณสมบัติ หรือคุณลักษณะต่าง ๆ ที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับอารมณ์ หรือความนึกคิด ที่จะทำให้บุคคลนั้นสามารถสร้างความไว้วางใจ หรือสร้างความน่าเข้าหา และส่งผลให้ทักษะด้านอาชีพของตนเองส่งผลในทางที่ดีมากขึ้น ในที่นี้อาจยกตัวอย่างเช่น ทักษะในการโน้มนาวใจ ทักษะในการให้บริการลูกค้า เป็นต้น


VR คืออะไร? แตกต่างจาก e-Learning อย่างไร?

Virtual Reality (VR) คือเทคโนโลยีที่สร้างบรรยากาศเสมือนจริงให้บุคคลได้รับรู้เสมือนหนึ่งอยู่ในสถานที่นั้นจริง ๆ ส่งผลให้ผู้ใช้เทคโนโลยี VR ได้รับความรู้สึกเสมือนตัวเองกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนเดียวกับบรรยากาศที่ถูกสร้างขึ้นมา (Immersive)
ความแตกต่างในกระบวนการสร้างการเรียนรู้ผ่าน VR นั้น ไม่ได้มุ่งเน้นไปเพียงแค่การเรียนรู้อย่างเดียวแบบที่ e-Learning ได้อำนวยความสะดวกในเชิง digital ให้เรา แต่ VR จะทำการรวมเอาเรื่องทางกายภาพเข้ากับกระบวนการทาง digital เข้าไว้ด้วยกัน ดังเช่นที่อาจารย์ภาควิชาศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัย Harvard Christopher Dede ได้กล่าวเอาไว้ว่า “VR เข้ามาช่วยในเรื่องการพัฒนาความรู้เป็นอย่างมาก เพราะมันคือสิ่งที่เราสามารถนำเอาความเสมือนจริงทางกายภาพ เข้ามารวมกับข้อมูลเชิง digital ทำให้ผู้เรียนนั้นสามารถนั่งอยู่ที่หน้าจอคอมพิวเตอร์ ใส่หูฟัง สวมแว่น VR แล้วทำให้กระบวนการถ่ายทอดความรู้นั้นประหนึ่งผู้เรียนได้เข้าไปอยู่ในสถานการณ์นั้น ๆ ด้วยตัวเอง”

นอกจากนี้การสร้างประสบการณ์ผ่าน VR ทำลายความน่าเบื่อของผู้เรียนลงไปได้ด้วย ซึ่งเราไม่ได้พูดถึงแค่กลุ่มเด็กนักเรียน แต่หมายรวมไปถึงกลุ่มพนักงานออฟฟิศเช่นกัน การสร้างแรงกระแทกทางการเรียนรู้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้ผู้เรียน เชื่อ และเข้าใจ ในเนื้อหาที่ตัวเองได้เรียนไป บริษัท Mursion เป็นผู้พัฒนาการเรียนรู้ทักษะที่เรียกว่า human skills ผ่านกระบวนการ VR อย่างเป็นรูปธรรม (ท่านผู้อ่านสามารถเข้าไปดูได้ที่ Youtube Channel: Mursion) โดยอาศัยข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีสร้างความจริงเสมือนขึ้นมาในกรณีที่เป็นไปได้ยาก เช่น เราจะพัฒนาทักษะการเจรจาที่มีแนวโน้มจะเกิดดราม่าในที่ทำงานอย่างไร หรือการรับมือกับคนไข้ที่อารมณ์ร้อนเพราะต้องรอคิวนาน ในขณะที่คลินิคเต็มไปด้วยคนไข้ที่รอรับการตรวจเต็มไปหมด หรือแม้กระทั่งการสร้างสถานการณ์จำลองที่ค่อนข้างอ่อนไหวอย่างการละเมิดทางเพศ (sexual harassment) หรือการเกิดปัญหาความรักในที่ทำงาน (office romance) เป็นต้น

นอกจากนี้ในแง่ของต้นทุนในการพัฒนา บริษัท PWC ได้รายงานว่า องค์กรที่ทดลองนำระบบ VR ไปพัฒนาพนักงานด้าน soft skills นั้น สามารถลดต้นทุนได้ และเพิ่มประสิทธิภาพในการเรียนรู้ได้เร็วกว่าเรียนผ่านระบบ e-Learning ปกติถึง 1.5 เท่า และเร็วกว่าการเรียนแบบสอนตัวต่อตัวได้ถึง 4 เท่า ส่วนในแง่ของผลกระทบนั้น ผู้ผ่านการอบรมแบบ VR ได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตัวผู้เรียนเองนั้นรู้สึกเข้าใจมากกว่าการเรียนรู้แบบปกติถึง 4 เท่าเช่นกัน


เราสามารถนำ VR for soft skills ไปใช้พัฒนาพนักงานในส่วนใดขององค์กรได้บ้าง?

บริษัท Future Workplace และ Mursion นั้น ได้ร่วมกันพัฒนาหลักสูตรการเรียนรู้ผ่าน VR มากกว่า 300 หลักสูตร ได้ให้คำแนะนำกับ HR ว่า มีทั้งสิ้น 3 แนวทางที่จะนำเอาเทคโนโลยี VR ไปประยุกต์ใช้ในหน่วยงาน ดังต่อไปนี้
1.) ด้าน Customer Service – เนื่องด้วย VR สามารถขยายการเรียนรู้แบบ on-boarding กลุ่มคนจำนวนมากได้พร้อมกัน และสามารถสร้างสถานการณ์ยาก ๆ ในการรับมือกับลูกค้าได้ตรงกับยุคสมัยมากขึ้น
2.) ด้าน Presentation Skill – เนื่องด้วย การทำ VR แบบจำลอง จะช่วยให้พนักงานขาย หรือผู้มีหน้าที่ต้องนำเสนอโครงการ ได้เจอสถานการณ์ที่ลูกค้าถามคำถามยาก ๆ แบบทันเวลาจริงได้ เป็นการซ้อมตัวเองก่อนรับมือกับของจริง
3.) ด้าน Performance Evaluation – เนื่องจากการให้ซองประเมิน เป็นสถานการณ์ที่ผู้จัดการมือใหม่จำเป็นจะต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ การลองฝึกซ้อมการทำ performance coaching จึงเป็นอีกสถานการณ์ที่ VR จะเข้ามาช่วยให้ผู้จัดการนั้นรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าวได้อย่างเหมาะสม

อ้างอิง
Virtual Reality Training Simulation Software by Mursion
pwc-understanding-the-effectiveness-of-soft-skills-training-in-the-enterprise-a-study.pdf