• Line: @thehrconsult
  • 02-821-5354
  • This email address is being protected from spambots. You need JavaScript enabled to view it.

HR กับคำถามท้าทาย “เราจะพาพนักงานผ่านปีนี้ไปสู่ปีหน้าอย่างไร?”

HR กับคำถามท้าทาย
“เราจะพาพนักงานผ่านปีนี้ไปสู่ปีหน้าอย่างไร?”

เตรียมระบบประเมินผลงานที่เหมาะสม
รูปแบบการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปเพราะผลกระทบจากระบบ social distancing ที่เกิดจาก new normal นั้น ส่งผลกระทบในระดับโลกในเรื่องของการ “ประเมินผลปฏิบัติงาน” หลายงานวิจัยพบว่า manager นั้นมีแนวโน้มที่จะเกิดอคติในระหว่างการประเมินผลสูงมาก เนื่องจากต้องทำงานห่างกัน หรือการสื่อสารที่ลดน้อยลงทำให้ไม่แน่ใจในผลงาน เป็นต้น
การเตรียมการเพื่อขจัดสิ่งเหล่านี้นั้น ควรต้องเริ่มที่การทำลายความคลุมเครือที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการสื่อสารก่อนเป็นอันดับแรก คำแนะนำในการออกแบบการทำ Performance Management ที่ HR จะต้องเตรียมทำให้อนาคตคือ การกำหนดตัววัดที่เหมาะสม และการให้คำนิยามในการะประเมินที่ยุติธรรม ยกตัวอย่างเช่น ในช่วงเวลาที่ทุกคนต้องใช้ระบบ video conference การกำหนดระยะเวลาการทำงาน หรือจำนวนการเข้าร่วมประชุมอาจจะฟังดูไม่ช่วยเราในการวัดผลประเมินใด ๆ หรือการวัดเพียงมิติเดียว เช่น วัดเฉพาะฝั่งลูกค้า อาทิ ความพึงพอใจของลูกค้า หรือการควบคุมปริมาณงาน ก็อาจจะไม่สามารถประเมินผลได้อย่างเที่ยงตรงได้ manager ที่ดีควรต้องนำระบบประเมินผลงานที่สะท้อนถึงความมีประสิทธิภาพในการทำงานแม้จะไม่เห็นด้วยตาตนเอง เช่น หากเราต้องการตัววัดเชิงนวัตกรรม เราไม่ควรใช้ KPI ที่มีลักษณะเป็นพฤติกรรมลอย ๆ ซึ่งหากยกตัวอย่างก็คงประมาณว่า “มีแนวคิดเชิงนวัตกรรม” ที่อ่านเพียงผ่าน ๆ แล้วก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่าตัววัดคืออะไร ในอนาคตของการทำงานรูปแบบใหม่นั้น เราควรจะเฉพาะเจาะจงไปที่ผลลัพธ์ที่พฤติกรรมนั้นจะนำพามาแทน จะดีกว่าไหมหากเราเปลี่ยนตัววัดด้านบนเป็น “สามารถนำเสนอไอเดียที่มีโอกาสนำไปสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ โดยใช้เทคโนโลยีที่มีอยู่แล้วมาประยุกต์” เป็นต้น

เตรียมการสร้างสภาพแวดล้อมในการทำงานแบบใหม่
การจัดความสมดุลในการทำงานระหว่างเรื่องส่วนตัวและเรื่องงานนั้นเป็นเรื่องที่ค่อนข้างท้าทายรูปแบบการทำงานแบบ remote work เนื่องจากสถานที่ทำงานนั้นกลายเป็นสถานที่อยู่อาศัยของพนักงานไปด้วย การบริหารเรื่อง work-life balance จึงกลายเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบกับชีวิตส่วนตัวของพนักงานอย่างแยกไม่ออก จากผลการสำรวจของ EuroFound ที่ได้ทำการสำรวจเรื่อง work-life balance ในช่วง covid-19 ที่ทุกคนมีสัดส่วนในการทำงานจากที่บ้านสูงขึ้นนั้น พบว่ามีพนักงานในบางประเทศที่ต้องรับรูปแบบการทำงานแบบ “ตลอดเวลา” (Always-On) ทำให้เวลาว่างบางครั้งต้องถูกทำให้กลายเป็นเวลางานไป และส่งผลเสียโดยตรงต่อสุขภาพจิตของพนักงาน ลองคิดสภาพที่กำแพงของ work-life balance ที่เคยแข็งแกร่งที่สุดอย่างคำว่า “บ้าน” นั้นโดนทำลายลงด้วยวัฒนธรรมการทำงานรูปแบบใหม่ ทำให้มนุษย์หลายคนสูญเสีย comfort zone หรือพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองไป (ข้อมูลอ้างอิงจาก EuroFound ระบุว่า พนักงานในยุโรปมีจำนวนการทำงานจากบ้านเพิ่มขึ้นจาก 5.4% เป็น 35% และอีก 14% ทำงานแบบ Hybrid)
แนวความคิดหนึ่งที่ในหลาย ๆ ประเทศในยุโรปเริ่มนำมาใช้แล้วคือ การตัดงานออกอย่างเด็ดขาดจากเวลาพัก หรือ the right to disconnect from work เนื่องจากความเชื่อที่ว่า “ไม่มีงานใด ๆ ในโลกนี้ที่จะต้องทำงาน 24 ชั่วโมง” ดังนั้นการสร้างสภาพแวดล้อมแบบใหม่จึงเป็นหน้าที่ที่สำคัญมาก ๆ กับ HR อาทิ หากจะยกตัวอย่างเป็นรูปธรรม เช่น Line ที่หลาย ๆ บริษัทในประเทศไทยใช้เป็นช่องทางในการทำงาน (ซึ่งจริง ๆ ไม่แน่ใจด้วยซ้ำว่ามันถูกออกแบบมาให้ใช้แบบนี้แต่แรกหรือไม่) ทำให้กลายเป็นว่างานของพนักงานติดตัวพนักงานตามโทรศัพท์มือถือตลอด ไม่ว่าจะหยุดพักผ่อน หรือลาพักร้อน (แต่อยู่บ้าน) บางครั้งก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ว่าจำเป็นต้องตอบ หรือขานรับเจ้านาย ดังนั้น หาก HR สามารถสร้างวัฒนธรรมแบบใหม่ขึ้นมาได้ และทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจทั้งในแง่การประเมิน และการทำงานที่ไม่ผิดขนบธรรมเนียมขององค์กร ก็จะสามารถสร้างแนวทางการทำงานที่จะฝ่าฟันภาวะวิกฤติในอนาคตต่อไปได้

เตรียมรูปแบบการตอบแทนในอนาคต
HR ควรจะต้องเตรียมมิติในการออกแบบการจ่ายค่าตอบแทนในอนาคตที่ใช้ 3 มิติในการมองอันได้แก่ ระยะสั้น vs ระยะยาว, กำหนดตายตัว vs แปรผัน และ ทีม vs ส่วนบุคคล ซึ่งจะขออธิบายดังต่อไปนี้
ในภาวะอนาคตที่เต็มไปด้วยความสับสนวุ่นวาย สิ่งหนึ่งที่จะสร้างหาทางไปสู่ความสำเร็จได้คือ การพยายามหาเส้นทางที่ควบคุมความแปรปรวนได้ อาทิเช่น การออกแบบการตอบแทนที่อิงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริง และมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา การสร้างผลตอบแทนในระยะสั้นนั้นอาจจะทำให้คาดคะเนยาก และอาจจะไม่จูงใจให้พนักงานขับเคลื่อนทิศทางธุรกิจไปในทิศที่ควรจะไป ดังนั้นการออกแบบผลตอบแทนในอนาคตควรจะวางเป้าไว้ที่ระยะยาวเป็นหลัก หรือถ้าคิดเป็นสัดส่วนก็อาจจะกล่าวได้ว่า บางบริษัทขึ้นค่าจ้างระหว่างปีน้อย (ระยะสั้น) แต่ให้เงินพิเศษเยอะ (ระยะยาว) เป็นต้น
การออกแบบผลตอบแทนที่แปรผันได้ ก็ช่วยกำหนดกลยุทธ์ของการบริหารได้เช่นกัน จากการสำรวจของ FW Cook Proprietary Research พบว่าผู้บริหารในองค์กรชั้นนำเลือกที่จะผูกผลตอบแทนที่แปรผันไว้มากกว่าค่าตอบแทนแบบตายตัว เช่น เงินเดือน หรือค่าประจำตำแหน่ง เพราะมองว่ามันคือการที่จะพาให้ทุ่มเทกับการบรรลุวัตถุประสงค์ขององค์กรและตัวพนักงานไปพร้อม ๆ กัน
สุดท้ายคือ การออกแบบผลตอบแทนที่สอดคล้องกับความสำเร็จของหน่วยงาน มากกว่าความสำเร็จของตัวบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่มักจะหยิบเอา OKR มาใช้ประเมินผล จริง ๆ OKR ถูกออกแบบมาเพื่อให้ทำเป้าของทีมให้สำเร็จ มิใช่เพื่อตัวบุคคลเพียงคนเดียว

ขอบคุณข้อมูลดีๆจาก : PMAT
อ้างอิง
Compensation Packages That Actually Drive Performance (hbr.org)
European workers may get the right to disconnect from work — Quartz at Work (qz.com)
How Do You Evaluate Performance During a Pandemic? (hbr.org)
Living, working and COVID-19 (europa.eu)